Quantcast
Channel: Brand Buffet
Viewing all articles
Browse latest Browse all 21651

เจาะกลยุทธ์ “3 จุดขาย” Joe Wings ร้านไก่ทอดสไตล์ไทย แบรนด์ใหม่ “โอ้กะจู๋”ชิงตลาด QSR 

$
0
0

กลยุทธ์สร้างการเติบโตของ “โอ้กะจู๋” หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการเปิดตัวร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ใหม่ ปีละ 1-2 แบรนด์ต่อเนื่องทุกปี เพื่อสร้างเครือข่ายอาหารหลากหลายประเภทให้ลูกค้ามาใช้บริการได้บ่อยครั้ง หนึ่งในประเภทอาหารที่ผู้บริโภคชื่นชอบคือ “ไก่ทอด”  ที่โอ้กะจู๋ พร้อมสู้ศึกในตลาดนี้กับแบรนด์ใหม่ Joe Wings (โจ วิงส์)  

หากดูโอกาสในตลาดเชนธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน หรือ Quick Service Restaurant (QSR) มูลค่า 45,000 ล้านบาท “ร้านไก่ทอด” ครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่ง ปีนี้คาดมีมูลค่าราว 28,000 – 30,000 ล้านบาท ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ Joe Wings สามารถเข้ามาชิงกำลังซื้อได้  แต่ก็เป็นตลาดที่แข่งขันสูงและมีเจ้าตลาดแข็งแกร่ง

คุณโจ้ จิรายุทธ ภูวพูนผล

ทำไม “โอ้กะจู๋” สนใจตลาดไก่ทอด 

คุณโจ้ จิรายุทธ ภูวพูนผล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานเกษตรอัจฉริยะ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) เล่าที่มาแบรนด์ Joe Wings และโอกาสที่โอ้กะจู๋มองเห็นในตลาดไก่ทอด สรุปได้ดังนี้

– เริ่มกันที่ชื่อแบรนด์ Joe Wings (โจ วิงส์) ที่จริงก็มาจากชื่อ “โจ้” หนึ่งในผู้ก่อตั้งโอ้กะจู๋ นั่นเอง แต่ชื่อร้านอ่านออกเสียงว่า “โจ วิงส์” เพื่อให้ชาวต่างชาติเรียกได้สะดวกขึ้น

– ในช่วงที่พัฒนาสินค้าไก่ทอดและซอสต่างๆ คุณโจ้ ซึ่งชื่นชอบเมนูไก่ทอดอยู่แล้ว เป็นคนเทสต์รสชาติเองทั้งหมดและแนะนำให้พัฒนารสชาติครบเครื่องจัดจ้านสไตล์ไทย ทีมงานจึงเรียกว่าเป็น “ไก่ทอดสไตล์โจ้” และใช้เป็นชื่อแบรนด์ Joe Wings

– หากย้อนไปแบรนด์แรก “โอ้กะจู๋” ก็มาจากคำผวน “อู๋กะโจ้” ที่เป็นชื่อเล่นของผู้ก่อตั้ง คุณอู๋ ชลากร เอกชัยพัฒนกุล ซีอีโอ บมจ.ปลูกผักเพราะรักแม่ เช่นกัน  ซึ่งคุณโจ้ ย้ำว่าแบรนด์อื่นๆ หลังจากนี้ของโอ้กะจู๋ ไม่ได้ตั้งใจว่าต้องเชื่อมโยงกับชื่อผู้ก่อตั้งเท่านั้น แต่เน้นชื่อที่เรียกง่ายและมีเรื่องเล่า

– การเปิดตัวแบรนด์ใหม่ Joe Wings ในตลาด QSR ไก่ทอด มาจากเห็นโอกาสตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 30,000 ล้านบาท  อีกทั้ง “ไก่ทอด” เป็นเมนูยอดนิยมตลอดกาลของคนไทยทุกวัย มีทั้งไก่ทอดสไตล์ไทยและแบรนด์

– จากการวิเคราะห์ดาต้าร้านโอ้กะจู๋ ที่เป็น Healthy Brand มีเมนูจากผักออร์แกนิกเป็นหลัก ช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ได้เปิดตัวสินค้าใหม่เมนูไก่ทอด American Hot Spicy Chicken พบว่ากลายเป็นเมนูขายดีอันดับหนึ่งตั้งแต่เปิดตัวถึงปัจจุบันต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส  จึงได้ต่อยอดเมนูฮิตมาเป็นแบรนด์ใหม่ Joe Wings  

3 จุดขายตัวเลือกไก่ทอดรสชาติสไตล์ไทย

ด้วยจุดขายโอ้กะจู๋ เป็น Healthy Brand  ร้านไก่ทอด Joe Wings  จึงมีคอนเซ็ปต์ว่า “ความอร่อยไม่ต้องทำร้ายสุขภาพเสมอไป” จึงวางกลยุทธ์เป็นตัวเลือกร้านไก่ทอดที่มาพร้อม 3 จุดขาย 

1. Better Oil  ใช้น้ำมันคาโนล่าในการทอด ที่เหมาะกับการ Deep Fry ทนความร้อนและมีจุดเกิดควันสูง มีไขมันอิ่มตัวต่ำ ทอดด้วยเตา Pressure Fryers  ใช้แรงดันในการทอดทำให้อมน้ำมันน้อยกว่า 30-40%

2. Better Chicken ใช้ไก่ปลอดสารเร่ง ไม่ใช้ฮอร์โมน  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ โดยใช้ไก่ เอสเพียว (S-Pure) เบทาโกร

3. Better Way ขั้นตอนการปรุง No Shortcut ตั้งแต่กระบวนการเคี่ยวปรุงใหม่ในทุกรสชาติ (Flavors) ไก่ทอด อีกทั้ง Homemade Dip ซอส  และ Organic Salad

Joe Wings เป็นไก่ทอดเน้นความนุ่ม แป้งกรอบ คลุกซอสรสชาติจัดจ้านเข้มข้นสไตล์คนไทย มีเมนูไก่ทอด 9 รสชาติ  คือ American Nashville, Thai Spice up, Midnight, Hot Too Hot, Louisiana, Lemon Pepper, Nori & Soy, Garlic Parmesan, Classic  โดยมีทั้งรสชาติคลาสสิก ไต่ระดับความเผ็ดไปถึง American Nashville  มีซอส Dips 5 รสชาติ

เมนูไก่ทอด Joe Wings  มีส่วนเนื้ออก (เหมือนที่ขายในโอ้กะจู๋) เพิ่มเติมส่วนปีกและน่องไก่ด้วย โดยทำราคาให้จับต้องได้ เริ่มต้น 139 บาท (ไก่ทอด 4 ชิ้น)  ปัจจุบันการใช้จ่ายใน QSR ต่อครั้งอยู่ที่ 200-250 บาทต่อคน

นอกจากนี้ยังมีเมนู Side Dish เช่น  เฟรนช์ฟรายส์,  แตงกว่าญี่ปุ่นดอง, กะหล่ำดองแอปเปิ้ลไซเดอร์, อะโวคาโดแตกกวาเชค, ทูน่าแตงกวาเชค, สลัดผักพอนสึ, สลัดไก่เผ็ด, สลัดไก่อะโวคาโด

“อาหารไทยดังทั่วโลก เราเป็นผู้เชี่ยวชาติพัฒนารสชาติจัดจ้านสไตล์ไทย ทำไมไม่มีแบรนด์ไก่ทอดสไตล์ไทยที่ทำตลาดได้ในระดับอินเตอร์ เราคาดหวังว่า Joe Wings จะทำได้แบบนั้น ด้วยรสชาติไก่ทอดแบบรสชาติครบเครื่องถึงลูกถึงคนสไตล์ไทย” 

เจาะทำเล Joe Wings

สำหรับร้าน Joe Wings สาขาแรกอยู่ที่ชั้น G สยามพารากอน ขนาด 150 ตารางเมตร เปิดบริการวันที่ 8 เมษายน 2568  เบื้องต้นวางแผนเปิดปีละ 3-5 สาขา พื้นที่ขนาด 150-200 ตารางเมตร (เฉพาะพื้นที่ครัว 60 ตารางเมตร) ลงทุน 5-7 ล้านบาท

– ทำเลเปิดสาขากลุ่มแรกคือ ศูนย์การค้าที่มีทราฟฟิกสูง เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง

– ทำเลต่อไปคือ คอมมูนิตี้มอลล์ อาคารสำนักงาน

– รวมทั้งโอกาสในพื้นที่ไลฟ์สไตล์ (พื้นที่ค้าปลีก) ของ OR หนึ่งในผู้ถือหุ้นโอ้กะจู๋

สำหรับร้านโอ้กะจู๋ ปัจจุบันมี  40 สาขา เป้าหมายเปิดปีละ 6-8 สาขา  ร้าน Oh! Juice  ปัจจุบันมี 19  สาขา เป้าหมายเปิดปีละ 15 -18 สาขา และร้าน Joe Wings เปิดปีละ 3-5 สาขา

เป้าหมาย “โอ้กะจู๋” ออกแบรนด์ใหม่ทุกปี

หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ “โอ้กะจู๋” วางแผนสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้างกำไรที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้น จึงวางแผนเปิดแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มใหม่ปีละ 1-2 แบรนด์ต่อเนื่องทุกปี เพื่อหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ  โดยศึกษาทั้งประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม  โดยอาหารเน้นเจาะตลาดใหญ่ที่ผู้บริโภคชื่นชอบ เช่น ก๋วยเตี๋ยว อาหารอีสาน อาหารไทย  เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเภทอาหารและถึงผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการได้ทุกวัน

กลยุทธ์ในการลงทุนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะมีการแข่งขันสูงหรือมีเจ้าตลาดที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว มองว่าทุกตลาดยังมีโอกาสเสมอ หากสามารถพัฒนาแบรนด์ที่มี 3 เรื่องนี้ได้ คือ 1. คุณภาพของโปรดักท์  2. ราคาแข่งขันได้ และ 3. ความสะดวกของโลเคชั่นเข้าถึงลูกค้า

ตัวอย่างที่ชัดเจนของแบรนด์ใหม่ที่แจ้งเกิดได้ในตลาดแข่งขันสูงอย่างร้านกาแฟ ที่มีทั้งอินเตอร์แบรนด์และแบรนด์ไทย คือ One Two Two Coffee  ที่ยึดหลักคุณภาพของโปรดักท์  ราคาแข่งขันได้ และความสะดวกเข้าถึงลูกค้า

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตลาดไก่ทอดที่มีเจ้าตลาดอินเตอร์แบรนด์อยู่แล้ว หรือตลาดอาหารประเภทอื่นๆ ก็เชื่อว่าทุกตลาดมีโอกาสเสมอสำหรับ “โอ้กะจู๋”  หากยึดหลัก คุณภาพของโปรดักท์  ราคาแข่งขันได้ และความสะดวกเข้าถึงลูกค้า

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


Viewing all articles
Browse latest Browse all 21651

Trending Articles



<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>