หลังจากถูกจับตาโดยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในนโยบายภาษีศุลกากรครั้งสำคัญแล้ว โดยมีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% สำหรับทุก ๆ ประเทศ (เริ่มบังคับใช้ 5 เมษายน) และมีบางประเทศที่จะได้พบกับภาษีในอัตราพิเศษ (เริ่มบังคับใช้ 9 เมษายน)
โดยประเทศที่ได้พบอัตราภาษีศุลกากรระดับสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ได้แก่
- จีน 34%
- สหภาพยุโรป 20%
- เวียดนาม 46%
- ไต้หวัน 32%
- ญี่ปุ่น 24%
- อินเดีย 26%
- กัมพูชา 49%
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า สาเหตุที่ประเทศเวียดนามและกัมพูชาเจออัตราภาษีระดับสูงมากในครั้งนี้ มาจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่าง ๆ จากจีนที่ต้องการหลีกเลี่ยงสงครามการค้านั่นเอง ซึ่งเมื่อบริษัทเหล่านั้นไปกระจุกตัวในประเทศเวียดนามและกัมพูชาเป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นประเทศที่ถูกจับตาและได้รับอัตราภาษีที่สูงมากในวันนี้
ด้านประเทศในซีกโลกตะวันตก พบว่ามีอีกหนึ่งประเทศที่พอหายใจได้อย่างโล่งอกคืออังกฤษ ที่จะพบกับอัตราภาษีเพียง 10% ซึ่งเป็นอัตราพื้นฐาน ขณะที่ประเทศรอบข้างในสหภาพยุโรปจะพบกับอัตราภาษี 20%
อย่างไรก็ดี สำหรับจีน แคนาดา และเม็กซิโก ทรัมป์ได้มีการกำหนดภาษีศุลกากร 25% สำหรับการนำเข้ารถยนต์มาแล้วก่อนหน้านี้ด้วย
ไทยเจอ Reciprocal tariffs 72%
สำหรับประเทศไทย พบว่า ในการประกาศดังกล่าว ไทยได้รับ Reciprocal tariffs (อัตราภาษีตอบโต้) ในอัตรา 72% (แต่ลดเหลือ 36%) ด้วย
สำหรับ Reciprocal Tariffs ข้อมูลจาก Krungthai Compass ระบุว่า เป็นมาตรการภาษีที่มีผลกระทบรุนแรงกว่า Universal Baseline Tariff มาตรการนี้จะให้อำนาจประธานาธิบดีในการปรับอัตราภาษีนำเข้าให้เท่ากับอัตราที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าอเมริกัน การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเป็นการออกกฎหมายใหม่ (Trump Reciprocal Trade Act) ซึ่งอาจมีความรวดเร็วเนื่องจากพรรค Republican สามารถครองเสียงข้างมากได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร
การประกาศดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ มีการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี เช่น แอปเปิลที่หุ้นปรับลดลงถึง 6% ขณะที่ Nvidia (มีโรงงานผลิตชิปในไต้หวันและเม็กซิโก) ปรับตัวลดลง 4% ด้าน Tesla ปรับตัวลดลง 4.5%